Subhawanich Accounting & Consulting Networks
  |  
 

Click at the top-right corner for English.

 

บทนำ

"กว่าจะรู้ตัว ก็เกือบหมดตัวเสียแล้ว"

ไม่น่าเชื่อว่าสถานประกอบการขนาดย่อม หรือ SMEsในบ้านเราส่วนใหญ่ จะรู้ผลประกอบการของกิจการของตนเองปีละครั้ง กว่าจะรู้ตัวว่าผลประกอบการปีที่แล้วว่ากำไรหรือขาดทุนไปเท่าไหร่ ก็ผ่านไปเกือบครึ่งปี รู้ตอนที่ผู้ตรวจสอบบัญชีเอางบการเงินมาให้เซ็น ก่อนนำส่งสรรพากร "เอ๊ะ ทั้งๆ ที่ปีที่แล้วก็ยอดขายเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ผลิตแทบไม่ทันลูกค้า ทั้งๆ ที่ทำโอทีเกือบทุกวัน น่าจะได้กำไรนะ แต่ทำไมขาดทุนไปได้"

ผู้ประกอบการบางคนแทบไม่สนใจอ่านงบการเงินด้วยซ้ำ เพราะคิดว่าเป็นเพียงเอกสารที่นำส่งสรรพากรให้ทัน ทำส่งๆ ไปงั้นเอง ลงกำไรเสียภาษีนิดหน่อย เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในการทำงาน "ไม่รู้จะดูทำไม ก็เงินในบัญชีก็ยังมีตั้งเยอะนี่นา แสดงว่ากิจการยังอยู่ได้สิ จะกังวลอะไร"

ลองสำรวจกิจการของท่านดู ว่าเป็นอย่างนี้บ้างไหม

  • ไม่ทราบสถานะของกิจการ
  • ขาดสภาพคล่อง เงินขาดมือไม่รู้ตัว เช่นทั้งๆ ที่ยอดขายเพิ่มขึ้นๆ แต่เงินไม่พอใช้จ่าย
  • ต้องขายลดเช็คนอกระบบอยู่บ่อยๆ
  • ไม่ทราบต้นทุนที่แท้จริงของสินค้าแต่ละตัว จะเสนอราคาสินค้าให้ลูกค้าแต่ครั้ง ก็ไม่มั่นใจ ว่าจะกำไร หรือขาดทุน ราคาแค่ไหนที่พอแข่งขันได้
  • ไม่รู้ว่าจะต้องขายเท่าไหร่ถึงจะคุ้มทุน
  • ไม่แยกบัญชีส่วนตัวกับบัญชีกิจการ ควักเงินส่วนตัวจ่ายออกไปเท่าไหร่ก็ไม่รู้
  • หนี้สูญ เก็บหนี้ไม่ได้ เงินรั่วไหล
  • จะลดต้นทุนอย่างไรโดยไม่ลดคุณภาพ
  • กู้เงินธนาคารไม่ได้สักที หรือกู้ได้แต่วงเงินต่ำ
  • อยากจะเริ่มต้นใช้ทำบัญชีด้วยตนเองซะที แต่ไม่รู้ว่าจะใช้โปรแกรมสำเร็จรูปตัวไหน หรือว่าจะจ้างเขียนโปรแกรมใหม่ดี
  • อยากลงทุนโครงการใหม่ ไม่รู้จะวางแผนการเงินอย่างไร

"ระบบบัญชีและการวิเคราะห์งบการเงินมีความสำคัญอย่างไร"

เป้าหมายของการบริหารกิจการ ไม่ว่าจะเป็นกิจการที่มุ่งแสวงหากำไรหรือไม่ คือการดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยปัจจัยหนึ่งที่จะไปสู่ความสำเร็จ คือ การบริหารการเงิน การบริหารกำไรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน

การบริหารการเงินคือ การจัดวางกลยุทธ์ทางการเงินที่จะดำรงความคล่องตัวทางการเงิน ในขณะที่สามารถทำกำไร เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง สามารถอยู่รอดและขยายธุรกิจในระยะยาว

การที่กิจการจะสามารถบรรลุเป้าหมายของตัวเองได้คือ การที่จะต้องรู้สถานะของตนเอง โดยการประมวลผลการดำเนินงาน เพื่อใช้ในการประเมินผลการทำงาน และปรับปรุงแก้ไขกลยุทธ์ หรือการทำงาน

การศึกษาที่มาของฐานะการเงิน วิเคราะห์สภาพปัจจุบัน เพื่อประเมินคุณภาพของการจัดการด้านการเงินของกิจการ โดยเริ่มต้นจากการศึกษางบการเงินในอดีต 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากงบการเงินเป็นรายงานที่แสดงผลประกอบการในเชิงเศรษฐศาสตร์ เป็นผลของการดำเนินตามกลยุทธ์และการตัดสินใจของผู้บริหาร งบการเงินจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยศึกษาแนวทางการดำเนินธุรกิจของกิจการ ด้วยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของอัตราส่วนทางการเงินในอดีตเพื่อดูความเป็น มาที่มีผลต่อสถานะในปัจจุบัน และวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต

งบการเงินมีความสำคัญต่อบุคคลหลายฝ่าย เช่น ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น เพราะงบการเงินแสดงให้เห็นถึงฐานะของกิจการ นโยบาย และผลการดำเนินงานของกิจการในอดีตและปัจจุบันว่าประสบความสำเร็จมากน้อย เพียงใด การวิเคราะห์งบการเงินทำให้ทราบจุดเด่นและจุดด้อยของกิจการ ทั้งยังช่วยในการควบคุมทางการเงินในอันที่จะเตือนให้ทราบว่าฐานะของกิจการ เป็นอย่างไรบ้าง ความสามารถในการชำระหนี้ สมรรถภาพในการหากำไรและสมรรถภาพในการดำเนินงาน หากธุรกิจพบปัญหาในการดำเนินงานจะได้แก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที นอกจากนี้ยังสามารถนำข้อมูลในงบการเงินมาทำการวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์หรือคาด การณ์ถึงผลการดำเนินงานของกิจการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

การจัดทำงบการเงินเป็นผลลัพธ์จากการเก็บรวบรวมข้อมูลทางการเงินที่ เกิดขึ้นในองค์กร ซึ่งในการบันทึกข้อมูลเหล่านั้นมีข้อจำกัดในตัวเองที่จะต้องค้นหาเบื้องหลัง ที่มีนัยสำคัญของตัวเลขต่าง ๆ ในงบการเงินเพื่อประกอบการวิเคราะห์ และโดยเฉพาะปัญหาของคุณภาพของงบการเงินของบางแห่ง ที่อาจจะมีสาเหตุมาจาก

  • ผู้ประกอบการไม่เห็นความสำคัญของการจัดทำบัญชี
  • ปัญหาการจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถพอในการจัดทำบัญชีการเงิน

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาระบบงานบัญชีของกิจการด้วย เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันอุปสรรคและปัญหาการทำงานด้านนี้ และหาความต้องการที่แท้จริงของผู้บริหารต่อการพัฒนางานด้านบัญชีและการเงิน

การเงินและบัญชีเกี่ยวข้องกับฝ่ายงานต่าง ๆ ดังนี้

การบริหาร : จุดแข็งและจุดอ่อนของกิจการ ประสิทธิภาพการบริหาร การควบคุม การจัดการ ประสิทธิภาพการใช้ทรัพย์สินในการหารายได้ ค่าใช้จ่ายการบริหาร เป็นต้น

  • การผลิต : ประสิทธิภาพการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มภายใน การควบคุมต้นทุนการผลิต ประสิทธิภาพการใช้เครื่องจักร เป็นต้น
  • การตลาด : ปัญหาการเติบโตของยอดขาย ค่าใช้จ่ายในการขาย
  • แรงงาน : ประสิทธิภาพแรงงาน เช่น อัตราส่วนของการสร้างมูลค่าเพิ่มภายในกับมูลค่าการผลิต ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรต่อหัว
  • การเงิน : เสถียรภาพของกำไร สภาพคล่องของธุรกิจ การหาเงินทุน การบริหารเงินทุนหมุนเวียน
  • การบัญชี : การนำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการ ระบบการควบคุมภายใน การวางแผนภาษี หรือปัญหาด้านภาษีอากร เป็นต้น

วัตถุประสงค์

  • เพื่อให้ผู้ประกอบการมีระบบบัญชีที่สอดคล้องกับประเภท (ลักษณะเฉพาะ) ของสถานประกอบการ
  • เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถคำนวณต้นทุนผลิตภัณฑ์และจัดทำรายงานสรุปเกี่ยวกับต้นทุนการผลิต
  • เพื่อให้ผู้ประกอบการมีแผนการทางการเงินในรูปงบประมาณประจำปี
  • เพื่อใช้ในการอธิบายความสามารถขององค์กร และให้มีข้อมูลที่เพียงพอต่อฝ่ายบริหารในการตัดสินใจ
  • เพื่อให้พนักงานมีความเข้าใจ และเห็นประโยชน์ของการจัดทำข้อมูลทางการเงิน ทั้งในรูปการจัด
    เตรียมเอกสารและการบันทึกให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็วในการปฏิบัติงาน

ขอบเขตการให้บริการของสมาคมฯ

  • ให้คำปรึกษาแนะนำการวางระบบบัญชี การเลือกใช้ซอฟท์แวร์ที่เหมาะสมกับกิจการและอุตสาหกรรม
  • ให้คำปรึกษาการวางแผนการเงิน การจัดทำแผนงบประมาณสำหรับธุรกิจ และการวางแผนควบคุมงบกระแสเงินสด
  • ให้คำปรึกษาการทำบัญชีต้นทุน การคิดต้นทุนผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในแต่ละอุตสาหกรรม
  • อบรมให้ความรู้ในการวิเคราะห์งบการเงิน และการออกแบบรายงานทางการเงิน

ประโยชน์ที่จะได้รับ

  1. มีระบบบัญชีที่ถูกต้อง เปิดเผยชัดเจน โปร่งใส ใช้ในการวิเคราะห์ได้
  2. มีแนวความคิดเกี่ยวกับระบบบัญชีต้นทุนประเภทต่างๆ ที่ถูกต้อง สอดคล้องกับกิจกรรมการผลิต
  3. สถานประกอบการมีข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสม ทันเวลา สามารถกำหนดจุดชี้วัดสำคัญของธุรกิจ
    สามารถติดตามควบคุม ตัดสินใจ ดำเนินการแก้ไขปัญหา ได้ทันท่วงที
  4. พนักงานผู้ปฏิบัติงาน ได้รับความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมาย
  5. มีการคัดเลือกโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป ที่เหมาะสมกับสถานประกอบการนั้น ๆ และสามารถออกแบบ
    แฟ้มปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ

ถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

คุณวารินทร์ ธีรวัฒเศรษฐี
นักวินิจฉัย
ฝ่ายวินิจฉัยและให้คำปรึกษาสถานประกอบการ

สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
534/4 ถนนพัฒนาการ ซอยพัฒนาการ 18 เขตสวนหลวง กทม. 10250
โทร. 0-2717-3000 ต่อ 628 โทรสาร 0-2719-9489-90
E-mail: warin@tpa.or.th

จาก http://www.tpa.or.th/shindan/detail.php?page=finance_account


ลงบัญชีผิดพลาด... แก้ไขอย่างไร ?

การบันทึกบัญชีผิด ย่อมมีผลให้งบการเงินบิดเบี้ยว ผิดรูป จนเป็นที่สังเกตได้ ถ้ารอยแผลนั้นกว้างและลึก (ในสาระสำคัญ)

ผลก็คือ เมื่อเหล่านายตรวจวิเคราะห์งบการเงิน / ตรวจพบ ก็อาจเป็นเหตุให้บริษัท ถูกออกหมายเรียก และอาจต้องถูกประเมินภาษีเพิ่มเติม พร้อมเบี้ยปรับ 1 เท่า และเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน

คำถามที่ตามมาก็คือ เมื่อบริษัทตรวจพบข้อผิดพลาดเหล่านั้น จะมีโอกาสแก้ไขปัญหา ย้อนหลังได้หรือไม่ อย่างไร?


(1) ผู้สอบบัญชีคำนวณภาษีผิดพลาด 

 
ในโบรชัวร์เรื่อง Tax Audit ของสถาบัน Tax Research Center กล่าวไว้ว่า “ผู้สอบบัญชี (Accounting Auditors) เกือบทั้งหมด เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นอย่างมาก ทางด้านการบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี (Generally Accepted Accounting Principles (GAAP) ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปในวงการบัญชีว่า หลักเกณฑ์ของ GAAP มิได้เกี่ยวข้องโดยตรงใดๆ กับบทบัญญัติในการคำนวณ กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี (taxable profit) รวมตลอดถึงกรณีของ VAT ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของใบกำกับภาษี (Tax Invoice) ใบเพิ่มหนี้ (Debit Note ตามมาตรา 86/9) ใบลดหนี้ (Credit Note ตามมาตรา 86/10) รายงานภาษีซื้อ, ขาย, สินค้าและวัตถุดิบ (ตามมาตรา 87) ก็หาได้ตรงกับหลักการบัญชีแต่อย่างใด

แปลกแต่จริง... ที่นักบัญชีส่วนใหญ่ มักกางประมวลรัษฎากร เพื่อทำบัญชี... แล้วจะไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดได้อย่างไร!?”

ตัวอย่าง 4 ‘ชายกลาง’ ผู้สอบบัญชีมือทองสมองเพชร ได้ลงลายมือชื่อรับรองงบการเงินของ ‘บริษัท ผู้ส่งออกพืชผลเกษตร จำกัด’ โดยคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ 2 ล้านบาท

‘ก๊วยเจ๋ง’ นายตรวจภาษีมือฉมัง ร่ายเวทย์จับยามสามตา พบว่าบริษัทรายนี้ มีข้อผิดพลาดหลายจุด อาทิ ฐานการเฉลี่ยภาษีซื้อผิด คำนวณค่าสาธารณะกุศลผิดพลาด ค่าเสื่อมราคาที่แสดงไว้ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์พ.ร.ฎ. # 145 และที่สำคัญคือปัญหาการคำนวณ รายได้ตามเกณฑ์สิทธิ จากการส่งออกก็ผิดพลาดทั้งในแง่ tax point และเงินมัดจำ เป็นต้น... ปรากฏว่าบริษัทฯ ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ล้านบาท

‘ก๊วยเจ๋ง’ ตัดสินใจแจ้งให้บริษัท ยื่น ภ.ง.ด.50 ตามยอดที่ถูกต้อง (5 ล้านบาท) ซึ่งไม่ตรงกับยอดที่โชว์ ในงบการเงินของผู้สอบบัญชี (ในทางตรงข้ามหากยอดที่ถูกต้อง ต่ำกว่า 2 ล้านบาท บริษัท ควรมีรายละเอียดชี้แจงประกอบการยื่นภ.ง.ด.50 เพื่อให้เจ้าพนักงานฯ เข้าใจถึงข้อต่างดังกล่าว)


(2) ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ต่ำไป 

 
มาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรยอมให้บริษัท ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 แสดงประมาณการกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลกลางปีไว้ขาดไป ไม่เกินกว่า 25% ของกำไรสุทธิจริง (ตามแบบ ภ.ง.ด.50)

หลายบริษัท จะมีปัญหาในการประมาณการกำไรสุทธิ เพราะมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้หลายประการ เช่น ค่าเงินที่แกว่ง การได้รับคำสั่งซื้อพิเศษ หรือเพิ่งชนะประมูลโครงการตอนปลายปี เป็นต้น กรณีจึงมักทำให้การยื่นเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลกลางปีไว้ต่ำ (ขาดไปเกิน 25%)

ประเด็นก็คือในขณะยื่นแบบปลายปี (ภ.ง.ด.50) บริษัท ควรแนบเอกสารชี้แจง ถึงความผิดพลาด ของการยื่นชำระภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) อย่างไรหรือไม่? เพื่อป้องกันการถูกออก หมายเรียกตรวจสอบภาษี


(3) คำนวณค่าเสื่อมราคาในปีก่อน ๆ ไว้ผิดพลาด 

 
เรื่องของการหักค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งถูกกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขโดยพระราชกฤษฎีกา # 145, 315, 375, 385, 395 นั้น เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า มีความแตกต่างจากหลักการบัญชี ที่รับรองทั่วไป อยู่มากมาย อาทิ


- การเช่าซื้อรถยนต์ มูลค่าทั้งหมดที่จ่ายไป เพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สิน คือมูลค่าทั้งหมดที่จ่ายไป ไม่ว่าจะแยกเรียกมูลค่าต้นทุน บางส่วนเป็นดอกเบี้ย หรืออย่างอื่นก็ตาม โดยบริษัทจะหักค่าสึกหรอ หรือค่าเสื่อมราคาได้ไม่เกิน 20% ของมูลค่าต้นทุน แต่จะต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อ หรือราคาที่จะต้องผ่อนชำระ ในรอบบัญชีนั้น (กค 0802/15188 ลว. 27 ส.ค. 2533)
- กรณีบริษัทซื้อทรัพย์สิน ประจำสำนักงาน ในราคาไม่เกิน 2,000 บาท จะตัดเป็นค่าใช้จ่ายไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (5) (รายจ่ายฝ่ายทุน) (กค 0804/10636 ลว. 25 มิ.ย. 2519)
- ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อทรัพย์สิน ต้องนำรวมกับทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อตัดค่าเสื่อมราคา ตามนัยแห่ง พ.ร.ฎ. # 375 ซึ่งจะต่างจากแนวทาง ที่กำหนดให้ถือปฏิบัติ (benchmark) ตาม GAAP # 33

ตัวอย่าง 5 บริษัท ฟ้าหัวเราะเยาะ จำกัด ได้วางนโยบายบัญชีไว้สวยหรู ตามหลักความมีสาระสำคัญ (materiality principle) อาทิ


- ค่าซื้อสินทรัพย์มูลค่าต่ำกว่า 5,000 บาท ให้หักเป็นรายจ่าย
- กรณีซื้อสินทรัพย์ระหว่างเดือน ให้ปัดเศษเต็มจำนวน เช่น ซื้อเครื่องจักร 5 ก.พ. 43 ก็ให้คำนวณระยะเวลาด้วย 11/12 เดือนเป็นต้น

ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บริษัท มิได้มีการปรับปรุง รายการดังกล่าวเลย เพราะความแตกต่าง จากประมวลรัษฎากร มีจำนวนน้อย ตามหลักความมีสาระสำคัญ (อีกแล้ว... แฮ่ๆ)

ความมาแตกเอาในปี 2545 เมื่อ ‘ก๊วยเจ๋ง’ ที่ปรึกษาภาษีได้ comment ว่าเป็นข้อผิดพลาด ที่อาจเป็นเหตุให้โดน ออกหมายเรียกก็ได้ จึงเกิดปรัศนีย์แก่บริษัทว่า (1) ควรจะยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 อย่างไรในปี 2545 และ (2) จะแก้ปัญหาผิดพลาดในปีก่อนๆ อย่างไร?

เฉลยว่า... (1) ในปี 2545 ให้คำนวณค่าเสื่อมราคาให้ถูกต้อง ตามหลักกฎหมายภาษี (2) ข้อผิดพลาดปีก่อน ๆ นั้น โดยหลักการ ต้องปรับปรุงใหม่ ให้ถูกต้องพร้อมยื่น ภ.ง.ด.50 เพิ่มเติม (ฉบับ 2) ในแต่ละปีที่ยื่นไว้ผิด

(4) เฉลี่ยภาษีซื้อผิดพลาด 
ประกาศอธิบดีเกี่ยวกับ VAT # 29 ได้วางหลักเกณฑ์การเฉลี่ยภาษีซื้อไว้ 2 กรณี คือ


(4.1) การเฉลี่ยภาษีซื้อสำหรับสินค้าและบริการทั่วไป อาทิ กรณีบริษัทประกอบธุรกรรม 2 ประเภท เช่น 7-ELEVEN ขายสินค้าอุปโภคบริโภค (เป็นธุรกรรมในระบบ VAT) และขายนิตยสาร / หนังสือพิมพ์ (เลือกเป็น NON-VAT)

กรณีจึงต้องมีการเฉลี่ยภาษีซื้อสำหรับรายจ่ายร่วม เช่น ภาษีซื้อสำหรับค่าไฟฟ้าประปา ค่าซื้อโต๊ะ / เก้าอี้ / เครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น


(4.2) การเฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคาร ซึ่งใช้ทำธุรกรรม 2 ชนิด ปะปนกันคือ ธุรกรรม VAT / ธุรกรรม NON-VAT ดังที่กล่าวใน 1) ข้างต้น

ปัญหาในการเฉลี่ยภาษีซื้อที่มักตรวจพบก็คือ คำนวณฐานผิดพลาด มิได้ยื่นแบบ ภพ.05.1 (แจ้งสัดส่วนประมาณการการใช้พื้นที่อาคาร) แบบ ภพ.05.2 (แจ้งวันที่อาคารก่อสร้างเสร็จ) แบบ ภพ.05.3 (แจ้งวันเริ่มใช้อาคาร) และแบบ ภพ.05.4 (แจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคาร) เป็นต้น

ผลจากความผิดพลาดดังกล่าว นอกจากจะทำให้ผิดพลาด ในตัวภาษีซื้อ ที่ยื่นขอคืนไว้แล้ว ก็ยังส่งผลให้การคำนวณรายจ่าย เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (taxable expenses) ผิดพลาดไปด้วย เพราะเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน

วิธีแก้ปัญหา เมื่อมีการตรวจพบในภายหลัง โดยหลักการ ก็คือให้ยื่น ภ.พ.30 + ภ.ง.ด.50 เพิ่มเติมในเดือน / ปี ที่เกิดความผิดพลาด เพื่อปรับปรุงยอดภาษี ให้ถูกต้องตามมูลความผิด ที่ตรวจพบดังกล่าว

(5) เข้าใจผิดในข้อกฎหมาย 
ต้องซูฮกและยอมรับในความโหดหิน จนแกรนิตต้องเรียกพี่... สำหรับความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ของประมวลรัษฎากร ซึ่ง อกาธา คริสตี้ ยังต้องอายม้วนชิดซ้ายไปเลย

ในรอบปีหนึ่ง ๆ กรมสรรพากรของเรา จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายอย่างถี่ยิบ และมีคำวินิจฉัยออกใหม่ ล้าง ruling เดิมก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ... จนผู้เขียนมักพูดแซวทำนอง “กลัวชาวบ้านจะเข้าใจ หรือปฏิบัติถูกต้องหรืออย่างไร?” อาทิ

- ป.90/2542 กรณีเจ้าของอาคารเช่า ได้เรียกเก็บค่าบริการพื้นที่จอดรถ เป็นปกติในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ถือเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสีย VAT (เดิมวางแนวปฏิบัติว่า การกำหนดสถานที่จอดไว้ให้โดยเฉพาะ ถือเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์)

- ป. 39/2537 กำหนดให้ธุรกิจสนามกอล์ฟ นำเงินค่าสมาชิก (membership fee) มาถือเป็นรายได้ทั้งจำนวน หรือเฉลี่ยตามระยะเวลา แต่ไม่เกิน 10 ปี และในปีใด ที่คืนเงินดังกล่าวแก่สมาชิก ก็ให้ถือเป็นรายจ่ายได้... กรณีเป็นที่ถกกันในหมู่นักวิชาการว่า กรมสรรพากรมีอำนาจ จัดเก็บภาษีจากเงินเรียกเก็บล่วงหน้า ที่มีเงื่อนไข ต้องคืนแก่ลูกค้าดังกล่าวหรือไม่?

ผลของการเปลี่ยนแนว คำวินิจฉัยดังกล่าว ทำให้การปฏิบัติในอดีต ผู้ประกอบการ เกิดความผิดพลาดทันควัน... ถามว่าจะแก้ไขอย่างไร คำตอบคือตัวใครตัวมัน !

(พบกับตอนจบของบทความชุดนี้ ในวันจันทร์ที่ 20 พ.ค. 2545 นะครับ)

โดย : อมรศักดิ์ พงศ์พศุตม์

อ้างอิง: http://www.nationejobs.com/content/legal/taxclinic/template.php?conno=46

 




Revenue Code



Advertising Zone    Close


Online: 1 Visits: 20,900 Today: 2 PageView/Month: 16

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...